The Röntgen Memorial (Röntgen-Gedächtnisstätte)

สถานที่แรกที่เราจะไปเยี่ยมชมในเมืองเวอร์ซบรูก ก็คือ The Röntgen Memorial สำหรับชื่อ Roengent นี้อาจจะไม่คุ้นหูคนทั่วไปซักเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดว่า x-ray ละก็เชื่อว่าทุกคนจะต้องรู้จักแน่ๆ นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเป็นเกียรติแก่อาจารย์เรนต์เกน (Wilhelm Conrad Röntgen) นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีเอ็กซ์ หรือเครื่องเอ็กซเรย์เครื่องแรกค่ะ

ความรู้สึกแรกเมื่อเปิดประตูเข้าไปในตึกนึกว่าเข้าไปผิดที่ เพราะเหมือนว่าเรากำลังก้าวเข้าไปในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยสมัยยังเรียนนักศึกษาแพทย์ด้วยกัน คุณสามีถึงกับสะกิดว่า “แน่ใจนะว่ามาถูกที่ เดี๋ยวโดนข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการหรอก” เรารื้อแผนที่จากกระเป๋ามากางดูอีกรอบ “ที่นี่จริงๆ นะ”

สรุปว่า The Röntgen Memorial มันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ซะทีเดียวค่ะ มันเหมือนดูคล้ายๆ ห้องปฏิบัติการเก่าที่เก็บรักษาไว้เพื่อเป็นหอเกียรติยศของอาจารย์แกซะมากกว่า ส่วนห้องอื่นๆ ที่อยู่ในตึกก็นั้นยังเป็นห้องปฏิบัติการจริงที่ใช้งานอยู่จริง บางห้องก็ใช้เป็นห้องเรียน ตอนเราเข้าไปเดินดู ยังมีนักเรียนวิทยาศาสตร์ยืนจด lecture กันอยู่เลย ณ ห้องเล็กๆ มุมหนึ่งของตึกถูกเก็บรักษาไว้ให้คงสภาพเดิม ภายในมีเครื่องเอ็กซเรย์เครื่องแรกของโลกและฟิล์มใบแรกของโลก มีจดหมายฉบับจริงที่อาจารย์เขียนถึงมหาวิทยาลัยเพื่อขอทุนในการวิจัยเพิ่ม  เพราะว่าอุปกรณ์ที่ใช้มันแพงมากจริงๆ ในสมัยนั้น (อ่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีปัญหาเรื่องเงินเหมือนกันหมดเลยแหะ) สำหรับคนทั่วๆ ไป ไม่แนะนำให้มาเท่าไหร่ เพราะต้องใช้เวลาเดินประมาณ 15 นาทีจากสถานีรถไฟซึ่งไกลพอสมควร ห้องค่อนข้างเล็ก และมีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษน้อยมาก แต่สำหรับเราที่เรียนมาทางสายการแพทย์แล้ว ตื่นเต้นสุดๆ ที่ได้เห็นฟิล์มใบแรกของโลก นึกขอบคุณอาจารย์อยู่ในใจหลายรอบเพราะถ้าไม่ได้สิ่งประดิษฐ์คิดค้นชิ้นนี้แล้ว การรักษาคนไข้ในปัจจุบันคงเป็นไปอย่างลำบากแน่นอน

 

220 copy.jpg

เวลาที่ใช้ในการชม 10 นาที

ภาษา       : อังกฤษ 30%

เวลาเปิด  : 8.00 am – 8.00 pm (เสาร์ปิด 6.00 pm) ปิดวันอาทิตย์

ราคา       : ฟรี

ประเทศ/จังหวัด : เยอรมัน(Germany) / แคว้นบาวาเรีย (ฺBavaria State) / Würzburg

Website : http://www.wilhelmconradroentgen.de/anschrift.htm

สรุปใน 1 ประโยค : ชมห้อง lab แรกต้นกำเนิด x-ray ในปัจจุบัน

 

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
Museum Backpacker ได้อนุญาตให้ใช้ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ต้นฉบับ.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ https://museumbackpacker.wordpress.com/.

Leave a comment